Sunday, May 10, 2009
+ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี +
จัดทำโดย ภูดิศ วิภาสวงศ์ 48714010
------------------------------------------------------------------------
มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs)
ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552
ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาภาวะโลกร้อน และกระแสความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) ทำให้ประเทศคู่ค้าหลายแห่งได้นำมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Barriers : NTBs) มาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี มาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าวที่หลายประเทศนิยมใช้เป็นข้อบังคับมีอยู่หลายมาตรการ แต่ในที่นี้ขอนำเสนอ 4 ประเด็น ดังนี้
1. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Standard : SPS) หมายถึง มาตรการทางการค้าที่ใช้ปกป้องชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช ซึ่งแต่ละประเทศจะมีเหตุผลทางด้านประชากร ภูมิศาสตร์ หรือกฎหมาย แต่จะต้องอิงกับมาตรฐานสากลและไม่เป็นการกีดกันทางการค้า แต่ส่วนมากมักจะนำมาเป็นข้อกล่าวอ้าง ซึ่งใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิเช่น การให้มีใบรับรองปลอดศัตรูพืช การกำหนดคุณภาพมาตรฐานอาหาร การกำหนดปริมาณสารตกค้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดมาตรฐาน GMP และ HACCP ซึ่ง GMP มาจากคำว่า General Principles of Food Hygiene : GMP หมายถึง หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร เป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุมเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม ทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยเน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้อาหารเป็นพิษ เป็นอันตราย หรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ส่วนระบบการจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร (Hazard Analysis Critical Control Point : HACCP) นำมาใช้ในการประกันด้านความปลอดภัยอาหาร ซึ่งเป็นระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร โดยมุ่งเน้นถึงการประเมิน และวิเคราะห์อันตรายที่อาจปนเปื้อนในอาหาร อาทิเช่น เชื้อโรค สารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค
2. มาตรการทางเทคนิค (Technical Barriers to Trade : TBT) เป็นการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางเทคนิค เพื่อให้ประเทศผู้นำเข้าสามารถใช้มาตรฐานเหล่านี้มาบังคับให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากประเทศมีความปลอดภัยแก่การบริโภค และเพื่อคุ้มครองชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ พืช และสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ผู้ผลิตสินค้าสุรายี่ห้อ T จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของสินค้าให้เป็นไปตามระเบียบมาตรฐานของประเทศ A ซึ่งจะต้องติดฉลากอาหารทุกชนิดเป็นภาษาของประเทศ A และถูกตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวด เป็นต้น
3. มาตรการสิ่งแวดล้อม (Environment Measures) ในอดีตที่ผ่านมา การค้าและการรักษาสิ่งแวดล้อมถูกมองว่าไม่สามารถดำเนินไปด้วยกันได้ แต่ปัจจุบันในทุกเวทีการค้าโลกได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดนี้ เพื่อการดำรงอยู่ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์และปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สินค้าบางรายการจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานก่อน จึงจะสามารถนำเข้าได้ ซึ่งการรับรองสินค้าที่ผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม จะต้องได้รับจากสถาบันที่ประเทศคู่ค้ากำหนด อาทิเช่น กฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า กฎหมาย Eco-design และกฎหมายเกี่ยวกับขยะบรรจุภัณฑ์ (Packaging waste) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เกี่ยวกับจริยธรรมผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการด้านแรงงาน รวมถึงการปิดฉลากผลิตภัณฑ์ตัดแต่งสารพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOs) หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ได้จากกระบวนการปรับปรุงทางพันธุกรรม หรือได้รับการตัดแต่งยีน โดยใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของพืช และสัตว์ ให้มีคุณสมบัติเพิ่มเติมจากธรรมชาติตามที่มนุษย์ต้องการ
4. มาตรการชาตินิยม (Nationalism Measures) ซึ่งหลายประเทศรณรงค์ให้ประชาชนใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา ที่เกิดจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อชาติ และงดการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเงินที่นำไปลงในประเทศต่างๆ กลับประเทศ
สำหรับปรากฏการณ์ที่เป็นตัวอย่างของการนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ อาทิเช่น สินค้ากล้วยไม้ไทยที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ที่เข้มงวดในการตรวจสอบเพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระด้านต้นทุน และเป็นอุปสรรคทางการค้าของสินค้ากล้วยไม้ไทยในตลาดอียู
สมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร ที่รวมกลุ่มกันจากองค์กรค้าปลีกต่างๆ เพื่อตรวจสอบคุณภาพการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยมาตรฐานการนำเข้าที่เรียกว่า "The British Retail Consortium : (BRC)" ซึ่งหากทำไม่ได้ผู้นำเข้าจะไม่สามารถไปวางขายในห้างค้าปลีกของอังกฤษได้ นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งบริษัทเอกชน "Carbon Trust" เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมให้ปล่อยปริมาณคาร์บอนต่ำระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและไทย เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเข้าร่วมโครงการคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon footprint) ด้วยการติดฉลาก (Carbon Label)
ญี่ปุ่น มีข้อกำหนดในการตรวจสอบสารปนเปื้อน กรณีมังคุดที่นำเข้าจากไทยต้องผ่านกระบวนการอบไอน้ำ โดยส่งเจ้าหน้าที่เกษตรของญี่ปุ่นควบคุมการผลิตในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลออสเตรเลียให้มีการนำกล้องจุลทรรศน์มาตรวจสอบหาแมลงศัตรูพืชบนผลมังคุดที่ไทยส่งเข้าไปจำหน่าย ทำให้มังคุดไทยถูกยึด และเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก
อินเดีย ยินยอมให้ผลไม้ไทยเข้าไปจำหน่ายได้ แต่ต้องผ่านการรมสารเมทิลโบมายด์ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยาก เพราะทำให้คุณภาพผลไม้เสียหายจนขายไม่ได้ ส่วนอินโดนีเซียเตรียมประกาศใช้มาตรการด้านสุขอนามัยที่มีข้อกำหนดให้รมสารเมทิลโบมายด์กับสินค้าผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และจีนมีการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มาตรฐานที่กำหนดออกมาส่วนใหญ่ จะเป็นมาตรฐานเอกชนคู่ค้ากำหนดขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับ แต่ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐจะต้องยกระดับพัฒนามาตรฐาน และคุณภาพของสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้น มีคุณภาพ ความปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยแนวโน้มคู่ค้าจะนำมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีมาใช้เป็นข้ออ้างในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น และขยายขอบเขตไปสู่ระดับสากล
แหล่งที่มา : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q2/2009april27p4.htm
---------------------------------------------------------------------------------------------
คำถาม
1. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Standard : SPS) คืออะไร
2. สารตัดแต่งพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า “Genetically Modified Organisms : GMOs) คืออะไร
3. มาตรการชาตินิยม (Nationalism Measures) มีไว้เพื่ออะไร
Friday, May 1, 2009
+ เศรษฐกิจยิ่งโต คนยิ่งจน +
จัดทำโดย ภูดิศ วิภาสวงศ์ 48714010
------------------------------------------------------------------------------------------------
หน้าที่ 1 - เศรษฐกิจยิ่งโต คนยิ่งจน
ช่วงนี้มีประเด็นร้อนอยู่หนึ่งประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจการคลังของประเทศ นั่นก็คือการเก็บรายได้จากภาษีหลุดเป้าไปกว่า 17% ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความอันตรายต่อสถานะเงินคงคลังของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหารายได้เพิ่มอย่างเดียว หรือไม่ก็ต้องรับฉายารัฐบาลนักกู้ไปซะ เนื่องจากมีแต่นโยบายการใช้เงิน แต่ไม่ได้หาเงิน ยิ่งรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าไม่เอาหวยบนดินแน่นอน ซึ่งเหมือนเป็นการปกป้องเจ้ามือหวยใต้ดินโดยแท้ครับ
วันนี้ผมมีโอกาสได้อ่านผลงานของนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบล คือ ไซมอน คุซเนท (Simon Kuznets) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน แต่สัญชาติยูเครน ท่านมีชื่อเสียงอย่างมากเนื่องจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี คศ. 1971
ผลงานวิจัยของท่านเกี่ยวกับการหาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน (Income Inequality) และผลผลิตมวลรวมของชาติ (Gross National Productivity, GNP) ซึ่งท่านได้ทำการเก็บข้อมูลของกลุ่มประเทศต่างๆ ทั้งประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา และพัฒนาแล้ว และหาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้กับ GNP พบปรากฎการณ์คือ GNP ที่มีค่าน้อยจะพบว่ามีค่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรจะมีค่าน้อย และมีค่ามากขึ้นเมื่อประเทศมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น หรือ GNP มีค่าสูงขึ้น และจะคงที่จนกระทั่งมีค่าลดลงอีกครั้งเมื่อ GNP มีค่าสูงขึ้นไปอีก ดังปรากฎในกราฟ Kuznets Curve ในภาพข้างล่างครับ
Kuznets อธิบายปรากฎการณ์นี้ได้ว่าเมื่อรายได้ต่อหัวของประชากรมีน้อยหมายถึงว่าประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้รายได้ประชากรมีค่าไม่สูงนัก เนื่องจากยังคงอยู่ในภาคการผลิตที่มีมูลค่าต่ำอยู่ จึงทำให้จนโดยถ้วนหน้าครับ แต่เมื่อรายได้ประชากรสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจากประเทศเกษตรกรรม เข้าสู่การใช้เทคโนโลยีในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลผลิตมากขึ้น และมีปริมาณเงินในระบบมากขึ้น เงินเฟ้อ และของแพงขึ้น แต่จะมีบางคนที่ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัว และถูกทิ้งไว้ข้างหลังการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้น เหมือนประเทศสารขัณฑ์
ความเหลื่อมล้ำจะคงที่เข้าสู่จุดหนึ่ง จนกระทั่งเศรษฐกิจโตขึ้นความเหลื่อมล้ำจะลดลง โดยการดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำโดยรัฐบาลผ่านกลไกของภาษีมรดก ซึ่งเป็นแนวทางในการหารายได้ของภาครัฐ และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ซึ่ง Kuznets ได้พบว่าประเทศกำลังพัฒนาได้เน้นเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป จนไม่ได้ดูถึงความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นเกิดจากความเหลื่อมล้ำของรายได้มีน้อย ซึ่งไม่ทิ้งคนที่ตามไม่ทันไว้ข้างหลังให้อยู่กับสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อจนรายได้ตามไม่ทันครับ
จริงๆ รัฐบาลมีแนวทางในการจัดเก็บภาษีโดยที่ไม่ต้องกู้หลายวิธีครับ เช่น การจัดเก็บภาษีมรดก การใช้กลไกของหวยบนดิน หรือการลงทุนเพิ่มของรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มการจ้างงานในระบบ ฯลฯ แต่อย่างว่าล่ะครับว่าการกู้เงินต่างประเทศมันง่ายที่สุดครับ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องใช้สมองด้วยครับ ส่วนการที่จะไปแตะของร้อนแบบภาษีมรดก หรือหวยบนดินอาจจะไปทำให้ใครหลายคนเดือดร้อนก็ได้ครับ
ดัดแปลงจาก: ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างชนชั้น และความจริงวันนี้กับภาษีมรดก ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
ผู้เขียน: ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
คำถาม
- ไซมอน คุซเนท (Simon Kuznets) ชาวอเมริกัน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาอะไร
- ผลงานวิจัยของ ไซมอน คุซเนท เป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับอะไร
- เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นความเหลื่อมล้ำจะลดลง รัฐบาลดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำโดยผ่านกลไกใด