จัดทำโดย ภูดิศ วิภาสวงศ์ 48714010
------------------------------------------------------------------------------------------------
หน้าที่ 1 - เศรษฐกิจยิ่งโต คนยิ่งจน
ช่วงนี้มีประเด็นร้อนอยู่หนึ่งประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจการคลังของประเทศ นั่นก็คือการเก็บรายได้จากภาษีหลุดเป้าไปกว่า 17% ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความอันตรายต่อสถานะเงินคงคลังของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหารายได้เพิ่มอย่างเดียว หรือไม่ก็ต้องรับฉายารัฐบาลนักกู้ไปซะ เนื่องจากมีแต่นโยบายการใช้เงิน แต่ไม่ได้หาเงิน ยิ่งรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าไม่เอาหวยบนดินแน่นอน ซึ่งเหมือนเป็นการปกป้องเจ้ามือหวยใต้ดินโดยแท้ครับ
วันนี้ผมมีโอกาสได้อ่านผลงานของนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบล คือ ไซมอน คุซเนท (Simon Kuznets) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน แต่สัญชาติยูเครน ท่านมีชื่อเสียงอย่างมากเนื่องจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี คศ. 1971
ผลงานวิจัยของท่านเกี่ยวกับการหาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน (Income Inequality) และผลผลิตมวลรวมของชาติ (Gross National Productivity, GNP) ซึ่งท่านได้ทำการเก็บข้อมูลของกลุ่มประเทศต่างๆ ทั้งประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา และพัฒนาแล้ว และหาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้กับ GNP พบปรากฎการณ์คือ GNP ที่มีค่าน้อยจะพบว่ามีค่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรจะมีค่าน้อย และมีค่ามากขึ้นเมื่อประเทศมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น หรือ GNP มีค่าสูงขึ้น และจะคงที่จนกระทั่งมีค่าลดลงอีกครั้งเมื่อ GNP มีค่าสูงขึ้นไปอีก ดังปรากฎในกราฟ Kuznets Curve ในภาพข้างล่างครับ
Kuznets อธิบายปรากฎการณ์นี้ได้ว่าเมื่อรายได้ต่อหัวของประชากรมีน้อยหมายถึงว่าประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้รายได้ประชากรมีค่าไม่สูงนัก เนื่องจากยังคงอยู่ในภาคการผลิตที่มีมูลค่าต่ำอยู่ จึงทำให้จนโดยถ้วนหน้าครับ แต่เมื่อรายได้ประชากรสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจากประเทศเกษตรกรรม เข้าสู่การใช้เทคโนโลยีในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลผลิตมากขึ้น และมีปริมาณเงินในระบบมากขึ้น เงินเฟ้อ และของแพงขึ้น แต่จะมีบางคนที่ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัว และถูกทิ้งไว้ข้างหลังการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้น เหมือนประเทศสารขัณฑ์
ความเหลื่อมล้ำจะคงที่เข้าสู่จุดหนึ่ง จนกระทั่งเศรษฐกิจโตขึ้นความเหลื่อมล้ำจะลดลง โดยการดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำโดยรัฐบาลผ่านกลไกของภาษีมรดก ซึ่งเป็นแนวทางในการหารายได้ของภาครัฐ และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ซึ่ง Kuznets ได้พบว่าประเทศกำลังพัฒนาได้เน้นเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป จนไม่ได้ดูถึงความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นเกิดจากความเหลื่อมล้ำของรายได้มีน้อย ซึ่งไม่ทิ้งคนที่ตามไม่ทันไว้ข้างหลังให้อยู่กับสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อจนรายได้ตามไม่ทันครับ
จริงๆ รัฐบาลมีแนวทางในการจัดเก็บภาษีโดยที่ไม่ต้องกู้หลายวิธีครับ เช่น การจัดเก็บภาษีมรดก การใช้กลไกของหวยบนดิน หรือการลงทุนเพิ่มของรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มการจ้างงานในระบบ ฯลฯ แต่อย่างว่าล่ะครับว่าการกู้เงินต่างประเทศมันง่ายที่สุดครับ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องใช้สมองด้วยครับ ส่วนการที่จะไปแตะของร้อนแบบภาษีมรดก หรือหวยบนดินอาจจะไปทำให้ใครหลายคนเดือดร้อนก็ได้ครับ
ดัดแปลงจาก: ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างชนชั้น และความจริงวันนี้กับภาษีมรดก ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
ผู้เขียน: ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
คำถาม
- ไซมอน คุซเนท (Simon Kuznets) ชาวอเมริกัน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาอะไร
- ผลงานวิจัยของ ไซมอน คุซเนท เป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับอะไร
- เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นความเหลื่อมล้ำจะลดลง รัฐบาลดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำโดยผ่านกลไกใด
No comments:
Post a Comment