Sunday, April 26, 2009

วิกฤตการเงินกระทบสถาบันอุดมศึกษา

จัดทำโดย นายวิสิฐศักดิ์ อังวราฐิติรัชต์ 48714009
----------------------------------------------------------------------

วิกฤตการเงินกระทบสถาบันอุดมศึกษา
รัฐบาลได้ประกาศว่า จะตัดเงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยบางส่วน เพื่อนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้มีรายได้ปานกลาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น...
ผู้เขียน: ดร.นลินี ทวีสิน ชมแล้ว: 54,168 ครั้ง
post ครั้งแรก: Fri 20 February 2009, 10:13 am ปรับปรุงล่าสุด: Fri 20 February 2009, 10:32 am
อยู่ในส่วน: วิชาการ.คอม, เศรษฐศาสตร์, สถาบันการศึกษา, สายศิลป์


หน้าที่ 1 - วิกฤตการเงินกระทบสถาบันอุดมศึกษา
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือนิตยสาร การศึกษาอัพเกรดกับวิชาการดอทคอม
ที่มา : นิตยสารการศึกษาอัพเกรด

ดร.นลินี ทวีสิน
ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี)
________________________________________
วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงกระทบต่อภาคธุรกิจ การเงินและการธนาคาร หรือในด้านการดำรงชีวิตของผู้คน แต่ยังกระทบถึงด้านการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ดังกรณีของสหราชอาณาจักร การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก กระทบต่อรายได้ของมหาวิทยาลัยและงบประมาณช่วยเหลือนักศึกษายากจนของภาครัฐ

บทความนี้ เป็นการนำเสนอตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินและวิกฤติการเงินของโลกในปัจจุบัน ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินกระทบต่อรายได้มหาวิทยาลัย
จากการขึ้นลงของค่าเงินบาทในประเทศต่าง ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งใน สหราชอาณาจักรเสี่ยงต่อการสูญเสียรายได้จากนักศึกษาต่างชาติ จนส่งผลต่อสถานทางการเงินของมหาวิทยาลัย
รายงานการวิเคราะห์ของบริษัท Grant Thornton เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการเงินและการบัญชีที่มั่นคงแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร ระบุว่ามหาวิทยาลัยที่วางใจในรายได้ที่มาจากนักศึกษาต่างชาติ อาจต้องระวังมากขึ้น เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่แกว่งตัวไปมานั้น สามารถเปลี่ยนเป้าหมายการศึกษาต่อของนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจากประเทศอินเดียและจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาเรียนในสหราชอาณาจักรมากที่สุด อาจตัดสินใจศึกษาต่อภายในประเทศ หรือไปยังประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย

บริษัท Grant Thornton ได้วิเคราะห์ว่า ช่วงปี ค.ศ.2006-07 มหาวิทยาลัยใน สหราชอาณาจักร มีรายได้จากนักศึกษาต่างชาติจำนวน 1.6 พันล้านปอนด์ เฉพาะนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนปริญญาตรี ต้องค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยคนละ 9,000 ปอนด์ต่อคนต่อปี แต่ขณะนี้ มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งมีอิทธิพลต่อตลาดการศึกษาระดับนานาชาติอย่างมากในปัจจุบัน

กรณีค่าเงินรูปีของอินเดีย ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ค.ศ.2008 อ่อนค่าลงร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ แต่เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย เงินรูปีเพิ่มค่าขึ้นร้อยละ 2 ดังนั้น นักศึกษาอินเดียต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเข้ามาเรียนในสหราชอาณาจักร ขณะในออสเตรเลียเสียค่าใช้จ่ายถูกลง และในช่วงเวลาเดียวกัน ค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้น ตรงข้ามกับค่าเงินในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย แต่เมื่อเทียบระหว่าง 3 ประเทศ นักศึกษาจีนจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หากศึกษาต่อในออสเตรเลีย สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้นักศึกษาจากจีนและอินเดีย หลีกเลี่ยงการเข้ามาเรียนในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนศึกษาต่อในสหราชอาณาจักรมากที่สุด




ข้อมูลของบริษัท Grant Thornton ยังได้ระบุว่า มีมหาวิทยาลัยจำนวน 11 แห่ง ที่อาศัยรายได้จากนักศึกษาต่างชาติมากกว่าร้อยละ 25 ของรายได้จากการเรียนการสอน และมากกว่าร้อยละ 15 ของรายได้รวมของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจทำให้มหาวิทยาลัยเหล่าประสบปัญหาหากนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนลดลง และในจำนวนมหาวิทยาลัยทั้ง 11 แห่ง มี 7 แห่ง อาจร่วงไปสู่เส้นแดง หากรายได้จากนักศึกษาต่างชาติตกลงเพียงร้อยละ 10 อาทิ มหาวิทยาลัยแอสตัน (Aston University) มหาวิทยาลัยซิตี้ (City University) มหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ (University of Exeter) มหาวิทยาลัยอิสต์ลอนดอน (University of East London) มหาวิทยาลัยมิดเดิลเซ็กซ์ (Middlesex University) สถาบันราชวิทยาลัยดนตรีแห่งอังกฤษ (Royal Academy of Music) และวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและแอฟริกาศึกษา (School of Oriental and African Studies)

วิกฤติการเงิน กระทบนักศึกษายากจน
วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประเทศอังกฤษอย่างรุนแรง ประกอบกับค่าเงินปอนด์ไม่มีความมั่นคง เนื่องด้วยมูลค่าของเงินปอนด์มีการแข็งค่าสลับกับการอ่อนค่าตลอดเวลา เพื่อเป็นการพยุงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ นายกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ทุ่มเงินไปกว่าพันล้านปอนด์ เพื่อพยุงกิจการของธนาคารและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น รัฐบาลจำต้องดึงเอางบประมาณจากภารกิจอื่น ๆ ของรัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ
ภารกิจด้านการอุดมศึกษา เป็นหนึ่งในภารกิจของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ จากเดิมที่มหาวิทยาลัยในในอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ จะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลในสัดส่วนที่สูง แต่เมื่อปลายตุลาคม ค.ศ.2008 รัฐบาลได้ประกาศว่า จะตัดเงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยบางส่วน เพื่อนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้มีรายได้ปานกลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ มหาวิทยาลัยในแถบอังกฤษตอนกลาง ถูกเรียกร้องให้ช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ กระทบต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัย
เงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยที่ลดลง ย่อมทำให้เงินช่วยเหลือนักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยลดลงตามไปด้วย ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะเริ่มศึกษาต่อในปีการศึกษา 2009 และมีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น กระทรวงนวัตกรรม มหาวิทยาลัย และทักษะ (Department for Innovation, Universities and Skills) จึงมีนโยบายเพื่อบรรเทาภาระทางการเงินของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยให้เงินอุดหนุนจำนวน 2,906 ปอนด์ต่อปี ซึ่งครอบคลุมค่าครองชีพ แก่นักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 ปอนด์ต่อปี และเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่สามารถกู้ยืมเงิน และเพิ่มจำนวนเงินที่สามารถกู้ยืมขึ้นเล็กน้อย โดยนักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่า 25,000 แต่ไม่เกิน 50,000 ปอนด์ต่อปี สามารถกู้ยืมได้ 4,925 ปอนด์ต่อปี เพิ่มจากปี ค.ศ.2008 ที่กำหนดไว้ที่ 4,207 ปอนด์ ซึ่งจะเริ่มเรียนในปีการศึกษา 2009

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร เป็นบทเรียนสำคัญให้รัฐบาลและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ศึกษาและหามาตรการเฝ้าระวังไว้ เพื่อรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทัน เพราะต้องยอมรับว่า มหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก อีกทั้ง เมื่อเกิดกรณีวิกฤติการเงินระดับโลก หากไม่มีการสำรองงบประมาณบางส่วนไว้ สถานภาพทางการเงินของมหาวิทยาลัยอาจมีปัญหา และงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือนักศึกษาด้อยโอกาสอาจไม่เพียงพอ อาทิ ทุนการศึกษา เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น
ดังนั้น มหาวิทยาลัยอาจมีงบประมาณสำรอง กรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ในส่วนรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาจมีงบกลางสำหรับการศึกษาโดยเฉพาะที่แยกจากงบกลางที่มีเดิม เพื่อใช้กรณีที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการศึกษา เพียงแต่ให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างรัดกุม นอกจากนี้ หากมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ควรมีแผนสำรองกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในประเทศนั้น ๆ เป็นต้น

*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและ วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com) ทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา



แหล่งที่มา : http://www.vcharkarn.com/varticle/38397


------------------------------------------------------------------------------------------------


คำถาม
1. บริษัท Grant Thornton เป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับอะไร



2. บริษัท Grant Thornton ได้วิเคราะห์ว่า ช่วงปี ค.ศ.2006-07 มหาวิทยาลัยใน สหราชอาณาจักร มีรายได้จากนักศึกษาต่างชาติจำนวนเท่าไร



3. วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประเทศอังกฤษ นายกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ทุ่มเงินไปกว่าพันล้านปอนด์เพื่ออะไร

No comments:

Post a Comment