Sunday, May 10, 2009

+ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี +

จัดทำโดย
จัดทำโดย ภูดิศ วิภาสวงศ์ 48714010
------------------------------------------------------------------------

มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs)
ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552
ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาภาวะโลกร้อน และกระแสความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) ทำให้ประเทศคู่ค้าหลายแห่งได้นำมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Barriers : NTBs) มาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี มาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าวที่หลายประเทศนิยมใช้เป็นข้อบังคับมีอยู่หลายมาตรการ แต่ในที่นี้ขอนำเสนอ 4 ประเด็น ดังนี้

1. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Standard : SPS) หมายถึง มาตรการทางการค้าที่ใช้ปกป้องชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช ซึ่งแต่ละประเทศจะมีเหตุผลทางด้านประชากร ภูมิศาสตร์ หรือกฎหมาย แต่จะต้องอิงกับมาตรฐานสากลและไม่เป็นการกีดกันทางการค้า แต่ส่วนมากมักจะนำมาเป็นข้อกล่าวอ้าง ซึ่งใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิเช่น การให้มีใบรับรองปลอดศัตรูพืช การกำหนดคุณภาพมาตรฐานอาหาร การกำหนดปริมาณสารตกค้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดมาตรฐาน GMP และ HACCP ซึ่ง GMP มาจากคำว่า General Principles of Food Hygiene : GMP หมายถึง หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร เป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุมเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม ทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยเน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้อาหารเป็นพิษ เป็นอันตราย หรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ส่วนระบบการจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร (Hazard Analysis Critical Control Point : HACCP) นำมาใช้ในการประกันด้านความปลอดภัยอาหาร ซึ่งเป็นระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร โดยมุ่งเน้นถึงการประเมิน และวิเคราะห์อันตรายที่อาจปนเปื้อนในอาหาร อาทิเช่น เชื้อโรค สารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค

2. มาตรการทางเทคนิค (Technical Barriers to Trade : TBT) เป็นการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางเทคนิค เพื่อให้ประเทศผู้นำเข้าสามารถใช้มาตรฐานเหล่านี้มาบังคับให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากประเทศมีความปลอดภัยแก่การบริโภค และเพื่อคุ้มครองชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ พืช และสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ผู้ผลิตสินค้าสุรายี่ห้อ T จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของสินค้าให้เป็นไปตามระเบียบมาตรฐานของประเทศ A ซึ่งจะต้องติดฉลากอาหารทุกชนิดเป็นภาษาของประเทศ A และถูกตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวด เป็นต้น

3. มาตรการสิ่งแวดล้อม (Environment Measures) ในอดีตที่ผ่านมา การค้าและการรักษาสิ่งแวดล้อมถูกมองว่าไม่สามารถดำเนินไปด้วยกันได้ แต่ปัจจุบันในทุกเวทีการค้าโลกได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดนี้ เพื่อการดำรงอยู่ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์และปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สินค้าบางรายการจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานก่อน จึงจะสามารถนำเข้าได้ ซึ่งการรับรองสินค้าที่ผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม จะต้องได้รับจากสถาบันที่ประเทศคู่ค้ากำหนด อาทิเช่น กฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า กฎหมาย Eco-design และกฎหมายเกี่ยวกับขยะบรรจุภัณฑ์ (Packaging waste) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เกี่ยวกับจริยธรรมผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการด้านแรงงาน รวมถึงการปิดฉลากผลิตภัณฑ์ตัดแต่งสารพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOs) หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ได้จากกระบวนการปรับปรุงทางพันธุกรรม หรือได้รับการตัดแต่งยีน โดยใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของพืช และสัตว์ ให้มีคุณสมบัติเพิ่มเติมจากธรรมชาติตามที่มนุษย์ต้องการ

4. มาตรการชาตินิยม (Nationalism Measures) ซึ่งหลายประเทศรณรงค์ให้ประชาชนใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา ที่เกิดจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อชาติ และงดการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเงินที่นำไปลงในประเทศต่างๆ กลับประเทศ
สำหรับปรากฏการณ์ที่เป็นตัวอย่างของการนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ อาทิเช่น สินค้ากล้วยไม้ไทยที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ที่เข้มงวดในการตรวจสอบเพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระด้านต้นทุน และเป็นอุปสรรคทางการค้าของสินค้ากล้วยไม้ไทยในตลาดอียู
สมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร ที่รวมกลุ่มกันจากองค์กรค้าปลีกต่างๆ เพื่อตรวจสอบคุณภาพการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยมาตรฐานการนำเข้าที่เรียกว่า "The British Retail Consortium : (BRC)" ซึ่งหากทำไม่ได้ผู้นำเข้าจะไม่สามารถไปวางขายในห้างค้าปลีกของอังกฤษได้ นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งบริษัทเอกชน "Carbon Trust" เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมให้ปล่อยปริมาณคาร์บอนต่ำระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและไทย เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเข้าร่วมโครงการคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon footprint) ด้วยการติดฉลาก (Carbon Label)
ญี่ปุ่น มีข้อกำหนดในการตรวจสอบสารปนเปื้อน กรณีมังคุดที่นำเข้าจากไทยต้องผ่านกระบวนการอบไอน้ำ โดยส่งเจ้าหน้าที่เกษตรของญี่ปุ่นควบคุมการผลิตในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลออสเตรเลียให้มีการนำกล้องจุลทรรศน์มาตรวจสอบหาแมลงศัตรูพืชบนผลมังคุดที่ไทยส่งเข้าไปจำหน่าย ทำให้มังคุดไทยถูกยึด และเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก
อินเดีย ยินยอมให้ผลไม้ไทยเข้าไปจำหน่ายได้ แต่ต้องผ่านการรมสารเมทิลโบมายด์ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยาก เพราะทำให้คุณภาพผลไม้เสียหายจนขายไม่ได้ ส่วนอินโดนีเซียเตรียมประกาศใช้มาตรการด้านสุขอนามัยที่มีข้อกำหนดให้รมสารเมทิลโบมายด์กับสินค้าผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และจีนมีการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มาตรฐานที่กำหนดออกมาส่วนใหญ่ จะเป็นมาตรฐานเอกชนคู่ค้ากำหนดขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับ แต่ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐจะต้องยกระดับพัฒนามาตรฐาน และคุณภาพของสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้น มีคุณภาพ ความปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยแนวโน้มคู่ค้าจะนำมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีมาใช้เป็นข้ออ้างในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น และขยายขอบเขตไปสู่ระดับสากล

แหล่งที่มา : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q2/2009april27p4.htm

---------------------------------------------------------------------------------------------
คำถาม
1. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Standard : SPS) คืออะไร


2. สารตัดแต่งพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า “Genetically Modified Organisms : GMOs) คืออะไร


3. มาตรการชาตินิยม (Nationalism Measures) มีไว้เพื่ออะไร

Friday, May 1, 2009

+ เศรษฐกิจยิ่งโต คนยิ่งจน +

จัดทำโดย ภูดิศ วิภาสวงศ์ 48714010

------------------------------------------------------------------------------------------------


หน้าที่ 1 - เศรษฐกิจยิ่งโต คนยิ่งจน

ช่วงนี้มีประเด็นร้อนอยู่หนึ่งประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจการคลังของประเทศ นั่นก็คือการเก็บรายได้จากภาษีหลุดเป้าไปกว่า 17% ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความอันตรายต่อสถานะเงินคงคลังของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหารายได้เพิ่มอย่างเดียว หรือไม่ก็ต้องรับฉายารัฐบาลนักกู้ไปซะ เนื่องจากมีแต่นโยบายการใช้เงิน แต่ไม่ได้หาเงิน ยิ่งรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าไม่เอาหวยบนดินแน่นอน ซึ่งเหมือนเป็นการปกป้องเจ้ามือหวยใต้ดินโดยแท้ครับ

วันนี้ผมมีโอกาสได้อ่านผลงานของนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบล คือ ไซมอน คุซเนท (Simon Kuznets) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน แต่สัญชาติยูเครน ท่านมีชื่อเสียงอย่างมากเนื่องจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี คศ. 1971

ผลงานวิจัยของท่านเกี่ยวกับการหาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน (Income Inequality) และผลผลิตมวลรวมของชาติ (Gross National Productivity, GNP) ซึ่งท่านได้ทำการเก็บข้อมูลของกลุ่มประเทศต่างๆ ทั้งประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา และพัฒนาแล้ว และหาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้กับ GNP พบปรากฎการณ์คือ GNP ที่มีค่าน้อยจะพบว่ามีค่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรจะมีค่าน้อย และมีค่ามากขึ้นเมื่อประเทศมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น หรือ GNP มีค่าสูงขึ้น และจะคงที่จนกระทั่งมีค่าลดลงอีกครั้งเมื่อ GNP มีค่าสูงขึ้นไปอีก ดังปรากฎในกราฟ Kuznets Curve ในภาพข้างล่างครับ

Kuznets อธิบายปรากฎการณ์นี้ได้ว่าเมื่อรายได้ต่อหัวของประชากรมีน้อยหมายถึงว่าประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้รายได้ประชากรมีค่าไม่สูงนัก เนื่องจากยังคงอยู่ในภาคการผลิตที่มีมูลค่าต่ำอยู่ จึงทำให้จนโดยถ้วนหน้าครับ แต่เมื่อรายได้ประชากรสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจากประเทศเกษตรกรรม เข้าสู่การใช้เทคโนโลยีในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลผลิตมากขึ้น และมีปริมาณเงินในระบบมากขึ้น เงินเฟ้อ และของแพงขึ้น แต่จะมีบางคนที่ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัว และถูกทิ้งไว้ข้างหลังการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้น เหมือนประเทศสารขัณฑ์

ความเหลื่อมล้ำจะคงที่เข้าสู่จุดหนึ่ง จนกระทั่งเศรษฐกิจโตขึ้นความเหลื่อมล้ำจะลดลง โดยการดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำโดยรัฐบาลผ่านกลไกของภาษีมรดก ซึ่งเป็นแนวทางในการหารายได้ของภาครัฐ และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ซึ่ง Kuznets ได้พบว่าประเทศกำลังพัฒนาได้เน้นเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป จนไม่ได้ดูถึงความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นเกิดจากความเหลื่อมล้ำของรายได้มีน้อย ซึ่งไม่ทิ้งคนที่ตามไม่ทันไว้ข้างหลังให้อยู่กับสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อจนรายได้ตามไม่ทันครับ

จริงๆ รัฐบาลมีแนวทางในการจัดเก็บภาษีโดยที่ไม่ต้องกู้หลายวิธีครับ เช่น การจัดเก็บภาษีมรดก การใช้กลไกของหวยบนดิน หรือการลงทุนเพิ่มของรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มการจ้างงานในระบบ ฯลฯ แต่อย่างว่าล่ะครับว่าการกู้เงินต่างประเทศมันง่ายที่สุดครับ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องใช้สมองด้วยครับ ส่วนการที่จะไปแตะของร้อนแบบภาษีมรดก หรือหวยบนดินอาจจะไปทำให้ใครหลายคนเดือดร้อนก็ได้ครับ


ดัดแปลงจาก: ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างชนชั้น และความจริงวันนี้กับภาษีมรดก ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง




ผู้เขียน: ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------


คำถาม

  1. ไซมอน คุซเนท (Simon Kuznets) ชาวอเมริกัน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาอะไร


  1. ผลงานวิจัยของ ไซมอน คุซเนท เป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับอะไร


  1. เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นความเหลื่อมล้ำจะลดลง รัฐบาลดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำโดยผ่านกลไกใด


Sunday, April 26, 2009

วิกฤตการเงินกระทบสถาบันอุดมศึกษา

จัดทำโดย นายวิสิฐศักดิ์ อังวราฐิติรัชต์ 48714009
----------------------------------------------------------------------

วิกฤตการเงินกระทบสถาบันอุดมศึกษา
รัฐบาลได้ประกาศว่า จะตัดเงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยบางส่วน เพื่อนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้มีรายได้ปานกลาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น...
ผู้เขียน: ดร.นลินี ทวีสิน ชมแล้ว: 54,168 ครั้ง
post ครั้งแรก: Fri 20 February 2009, 10:13 am ปรับปรุงล่าสุด: Fri 20 February 2009, 10:32 am
อยู่ในส่วน: วิชาการ.คอม, เศรษฐศาสตร์, สถาบันการศึกษา, สายศิลป์


หน้าที่ 1 - วิกฤตการเงินกระทบสถาบันอุดมศึกษา
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือนิตยสาร การศึกษาอัพเกรดกับวิชาการดอทคอม
ที่มา : นิตยสารการศึกษาอัพเกรด

ดร.นลินี ทวีสิน
ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี)
________________________________________
วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงกระทบต่อภาคธุรกิจ การเงินและการธนาคาร หรือในด้านการดำรงชีวิตของผู้คน แต่ยังกระทบถึงด้านการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ดังกรณีของสหราชอาณาจักร การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก กระทบต่อรายได้ของมหาวิทยาลัยและงบประมาณช่วยเหลือนักศึกษายากจนของภาครัฐ

บทความนี้ เป็นการนำเสนอตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินและวิกฤติการเงินของโลกในปัจจุบัน ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินกระทบต่อรายได้มหาวิทยาลัย
จากการขึ้นลงของค่าเงินบาทในประเทศต่าง ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งใน สหราชอาณาจักรเสี่ยงต่อการสูญเสียรายได้จากนักศึกษาต่างชาติ จนส่งผลต่อสถานทางการเงินของมหาวิทยาลัย
รายงานการวิเคราะห์ของบริษัท Grant Thornton เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการเงินและการบัญชีที่มั่นคงแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร ระบุว่ามหาวิทยาลัยที่วางใจในรายได้ที่มาจากนักศึกษาต่างชาติ อาจต้องระวังมากขึ้น เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่แกว่งตัวไปมานั้น สามารถเปลี่ยนเป้าหมายการศึกษาต่อของนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจากประเทศอินเดียและจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาเรียนในสหราชอาณาจักรมากที่สุด อาจตัดสินใจศึกษาต่อภายในประเทศ หรือไปยังประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย

บริษัท Grant Thornton ได้วิเคราะห์ว่า ช่วงปี ค.ศ.2006-07 มหาวิทยาลัยใน สหราชอาณาจักร มีรายได้จากนักศึกษาต่างชาติจำนวน 1.6 พันล้านปอนด์ เฉพาะนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนปริญญาตรี ต้องค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยคนละ 9,000 ปอนด์ต่อคนต่อปี แต่ขณะนี้ มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งมีอิทธิพลต่อตลาดการศึกษาระดับนานาชาติอย่างมากในปัจจุบัน

กรณีค่าเงินรูปีของอินเดีย ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ค.ศ.2008 อ่อนค่าลงร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ แต่เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย เงินรูปีเพิ่มค่าขึ้นร้อยละ 2 ดังนั้น นักศึกษาอินเดียต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเข้ามาเรียนในสหราชอาณาจักร ขณะในออสเตรเลียเสียค่าใช้จ่ายถูกลง และในช่วงเวลาเดียวกัน ค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้น ตรงข้ามกับค่าเงินในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย แต่เมื่อเทียบระหว่าง 3 ประเทศ นักศึกษาจีนจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หากศึกษาต่อในออสเตรเลีย สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้นักศึกษาจากจีนและอินเดีย หลีกเลี่ยงการเข้ามาเรียนในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนศึกษาต่อในสหราชอาณาจักรมากที่สุด




ข้อมูลของบริษัท Grant Thornton ยังได้ระบุว่า มีมหาวิทยาลัยจำนวน 11 แห่ง ที่อาศัยรายได้จากนักศึกษาต่างชาติมากกว่าร้อยละ 25 ของรายได้จากการเรียนการสอน และมากกว่าร้อยละ 15 ของรายได้รวมของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจทำให้มหาวิทยาลัยเหล่าประสบปัญหาหากนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนลดลง และในจำนวนมหาวิทยาลัยทั้ง 11 แห่ง มี 7 แห่ง อาจร่วงไปสู่เส้นแดง หากรายได้จากนักศึกษาต่างชาติตกลงเพียงร้อยละ 10 อาทิ มหาวิทยาลัยแอสตัน (Aston University) มหาวิทยาลัยซิตี้ (City University) มหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ (University of Exeter) มหาวิทยาลัยอิสต์ลอนดอน (University of East London) มหาวิทยาลัยมิดเดิลเซ็กซ์ (Middlesex University) สถาบันราชวิทยาลัยดนตรีแห่งอังกฤษ (Royal Academy of Music) และวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและแอฟริกาศึกษา (School of Oriental and African Studies)

วิกฤติการเงิน กระทบนักศึกษายากจน
วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประเทศอังกฤษอย่างรุนแรง ประกอบกับค่าเงินปอนด์ไม่มีความมั่นคง เนื่องด้วยมูลค่าของเงินปอนด์มีการแข็งค่าสลับกับการอ่อนค่าตลอดเวลา เพื่อเป็นการพยุงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ นายกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ทุ่มเงินไปกว่าพันล้านปอนด์ เพื่อพยุงกิจการของธนาคารและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น รัฐบาลจำต้องดึงเอางบประมาณจากภารกิจอื่น ๆ ของรัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ
ภารกิจด้านการอุดมศึกษา เป็นหนึ่งในภารกิจของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ จากเดิมที่มหาวิทยาลัยในในอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ จะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลในสัดส่วนที่สูง แต่เมื่อปลายตุลาคม ค.ศ.2008 รัฐบาลได้ประกาศว่า จะตัดเงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยบางส่วน เพื่อนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้มีรายได้ปานกลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ มหาวิทยาลัยในแถบอังกฤษตอนกลาง ถูกเรียกร้องให้ช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ กระทบต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัย
เงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยที่ลดลง ย่อมทำให้เงินช่วยเหลือนักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยลดลงตามไปด้วย ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะเริ่มศึกษาต่อในปีการศึกษา 2009 และมีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น กระทรวงนวัตกรรม มหาวิทยาลัย และทักษะ (Department for Innovation, Universities and Skills) จึงมีนโยบายเพื่อบรรเทาภาระทางการเงินของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยให้เงินอุดหนุนจำนวน 2,906 ปอนด์ต่อปี ซึ่งครอบคลุมค่าครองชีพ แก่นักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 ปอนด์ต่อปี และเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่สามารถกู้ยืมเงิน และเพิ่มจำนวนเงินที่สามารถกู้ยืมขึ้นเล็กน้อย โดยนักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่า 25,000 แต่ไม่เกิน 50,000 ปอนด์ต่อปี สามารถกู้ยืมได้ 4,925 ปอนด์ต่อปี เพิ่มจากปี ค.ศ.2008 ที่กำหนดไว้ที่ 4,207 ปอนด์ ซึ่งจะเริ่มเรียนในปีการศึกษา 2009

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร เป็นบทเรียนสำคัญให้รัฐบาลและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ศึกษาและหามาตรการเฝ้าระวังไว้ เพื่อรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทัน เพราะต้องยอมรับว่า มหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก อีกทั้ง เมื่อเกิดกรณีวิกฤติการเงินระดับโลก หากไม่มีการสำรองงบประมาณบางส่วนไว้ สถานภาพทางการเงินของมหาวิทยาลัยอาจมีปัญหา และงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือนักศึกษาด้อยโอกาสอาจไม่เพียงพอ อาทิ ทุนการศึกษา เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น
ดังนั้น มหาวิทยาลัยอาจมีงบประมาณสำรอง กรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ในส่วนรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาจมีงบกลางสำหรับการศึกษาโดยเฉพาะที่แยกจากงบกลางที่มีเดิม เพื่อใช้กรณีที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการศึกษา เพียงแต่ให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างรัดกุม นอกจากนี้ หากมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ควรมีแผนสำรองกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในประเทศนั้น ๆ เป็นต้น

*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและ วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com) ทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา



แหล่งที่มา : http://www.vcharkarn.com/varticle/38397


------------------------------------------------------------------------------------------------


คำถาม
1. บริษัท Grant Thornton เป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับอะไร



2. บริษัท Grant Thornton ได้วิเคราะห์ว่า ช่วงปี ค.ศ.2006-07 มหาวิทยาลัยใน สหราชอาณาจักร มีรายได้จากนักศึกษาต่างชาติจำนวนเท่าไร



3. วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประเทศอังกฤษ นายกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ทุ่มเงินไปกว่าพันล้านปอนด์เพื่ออะไร

Tuesday, April 14, 2009

หนี้เพิ่ม ออมลด กระทบสภาพคล่อง

จัดทำโดย นายวิสิฐศักดิ์ อังวราฐิติรัชต์ 48714009
--------------------------------------------------------------------------------------------------

กิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกในหน่วยงานเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกออมเงิน และให้บริการเงินกู้ยืมแก่สมาชิกที่มีความจำเป็นเดือดร้อนทางการเงิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเจ้าของและผู้ใช้บริการในระบบสหกรณ์เป็นบุคคลเดียวกัน สมาชิกส่วนใหญ่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นชนชั้นกลางที่มีรายได้ประจำ การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ค่อนข้างเป็นระบบปิดภายในเฉพาะหน่วยงานของตนเอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 ภาพรวมระบบสหกรณ์ออมทรัพย์มีจำนวนสหกรณ์ตามทะเบียนทั้งสิ้น 1,291 แห่ง ในจำนวนนี้สามารถติดตามรวบรวมข้อมูลได้จำนวน 1,205 แห่ง มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 2.29 ล้านคน และมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 7.31 แสนล้านบาท
ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ มีจุดเด่นที่ทุนเรือนหุ้นซึ่งจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ตามข้อบังคับที่ให้สมาชิกถือหุ้นในสหกรณ์เพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยบางสหกรณ์ได้นำระบบการคำนวณสัดส่วนการถือหุ้นของสมาชิกให้เพิ่มขึ้นตามระดับเงินเดือน ซึ่งทำให้สหกรณ์มีเงินทุนสำหรับการขยายผลการดำเนินงานให้เติบโตขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2550 สหกรณ์ออมทรัพย์สามารถให้บริการเงินกู้แก่สมาชิกได้ถึง 5.81 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11.3% ของสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีเดียวกันที่มียอดคงค้างอยู่ทั้งสิ้น 5.16 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ตัวเลขผลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ค่อนข้างล่าช้า โดยล่าสุดมีถึงปี 2550 เท่านั้น แต่เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2552 อาจจะมีปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่ต่อเนื่องมาจากปี 2551 จึงทำให้ประเด็นในเรื่องสภาพคล่องและการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ถึงแม้ว่าการดำเนินธุรกิจของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นระบบปิดภายในเฉพาะหน่วยงานของตนเอง แต่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ได้
แนวโน้มธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ปี 2552
เศรษฐกิจไทยในปี 2552 อาจจะเติบโตช้าลงเป็นประมาณ 0-1.2% เทียบกับในปี 2551 ที่คาดว่าจะเติบโตในระดับประมาณ 2.9% ซึ่งแม้เศรษฐกิจไทยอาจไม่ประสบภาวะถดถอยรุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ต้องยอมรับว่าการเติบโตที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเป็นสำคัญ ผ่านการใช้เงินงบประมาณทั้งเพื่อการลงทุนและการลดภาษีต่างๆ ขณะที่ในภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ล้วนแต่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ถึงกับต้องปรับลดกำลังการผลิต และการจ้างงาน แม้แต่การปิดกิจการในบางแห่ง ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับรายได้ของประชาชนโดยเฉพาะระดับกลางและล่างให้ลดลง เนื่องจากความสามารถในการจ่ายเงินเดือนเพิ่มและการรับพนักงานใหม่ขององค์กรต่าง ๆ มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ
ปัจจัยดังกล่าว มีผลให้การดำเนินธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ในปี 2552 เผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ ดังนี้

1. ความเสี่ยงต่อภาวะตึงตัวของสภาพคล่อง : แม้ว่าสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์อาจจะเผชิญความเสี่ยงจากการว่างงานน้อยกว่าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหรือบริการ แต่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สมาชิกอาจมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากรายได้ที่อาจลดลง เช่น ค่าล่วงเวลา (OT) หรืออาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินมากขึ้น เพราะหมุนเงินยากขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น จึงมีความเป็นได้สูงที่ระดับการออมของสมาชิกสหกรณ์อาจจะลดลงต่อเนื่องในปีนี้ สวนทางกับความต้องการสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้อาจจะเพิ่มขึ้นช้าลง ขณะที่ค่าครองชีพยังอยู่ในเกณฑ์สูง แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อและราคาน้ำมันจะคลี่คลายลงในปีนี้ก็ตาม แต่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปไม่ได้ปรับลดลงตามในสัดส่วนเดียวกัน
ปัจจัยข้างต้นอาจส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ลดลง ดังนั้น แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงชัดเจนในปีนี้ แต่สหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งอาจยังไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงได้เร็วและมากเท่าตลาดได้ เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบให้เงินฝากไหลออก ขณะเดียวกัน กระแสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มผลประกอบการของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์มีกำไรลดลงตามไปด้วย

2. สหกรณ์ออมทรัพย์ที่สมาชิกส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินมากกว่าเงินออม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในภาคราชการ เช่น ตำรวจ ทหาร และครู อาจได้รับผลกระทบมากกว่าสหกรณ์ ที่สมาชิกส่วนใหญ่มีเงินออมมากกว่าภาระหนี้สิน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินกู้ยืมจากภายนอก ขณะที่แหล่งเงินกู้อาจระมัดระวังปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์อื่น หรือจากระบบธนาคารพาณิชย์ก็ตาม โดยอาจส่งผลให้วงเงินสินเชื่อลดลง หรือแม้แต่ต้นทุนการกู้ยืมแพงขึ้น ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯเองในปี 2552 ในเรื่องความสามารถในการทำกำไร และแนวโน้มการจ่ายปันผลแก่สมาชิกในอัตราที่ลดลงแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์บางส่วนด้วย โดยเฉพาะในรายที่จำเป็นต้องพึ่งเงินกู้หมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจต้องขอรับบริการทางการเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ

3. ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง และติดตามต่อไป แม้ว่าในภาพรวมทั้งระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ปี 2550 จะมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพียง 1,146 ล้านบาท คิดเป็น 0.2% ของลูกหนี้เงินกู้คงค้างทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก 30% ของเงินให้กู้ยืมเป็นการกู้ยืมเพื่อชำระคืนหนี้เดิม ซึ่งบ่งชี้ว่าหากลูกหนี้กลุ่มนี้ประสบปัญหาเรื่องการบริหารรายได้กับรายจ่ายแล้ว จึงอาจมีความเสี่ยงที่ลูกหนี้กลุ่มนี้จะกลายเป็นหนี้เสียได้มาก

--------------------------------------------------------
แหล่งที่มา : http://www.siamrath.co.th/UIFont/Articledetail.aspx?nid=2663&acid=2663



คำถาม

1. กิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกในหน่วยงานเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออะไร


2. จุดเด่นของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ คืออะไร


3. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างไร